วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565

สารบัญ

ขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ
การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ
หน้าที่ของบุคคลในที่ชุมนุมสาธารณะ

วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ขั้นตอนการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

* อ้างอิง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ มาตรา 10 , 11 , 12 , 14

วันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณะ

-  พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘

-  ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวิธีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ ๓ พ.ย.๒๕๕๘
-  ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ ๓ พ.ย.๒๕๕๘

ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดระดับเสียงของเครื่องขยายเสียงที่ใช้ในการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๓ ก.ย.๒๕๕๘

-  ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๒๑๕ มาตรา ๒๑๖
-  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา ๕ มาตรา ๔๒๑
-  พระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๕๓๕  มาตรา ๓๘ มาตรา ๓๙
-  พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  มาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๓๙ (๑๓)
-  พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.๒๔๙๓  มาตรา ๔ มาตรา ๕ มาตรา ๖
-  พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙  มาตรา ๕

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


             มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
             "การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุนคัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
(*หมายเหตุ-กรณีชุมนุมที่ไม่เข้าข่าย ได้แก่ ไม่ใช่ที่สาธารณะ , ไม่ได้แสดงออกต่อประชาชนทั่วไป , บุคคลอื่นไม่สามารถเข้าร่วมได้)

             มาตรา ๓  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้
             (๑) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
             (๒) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
             (๓) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
             (๔) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
             (๕) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ
             (๖) การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

             มาตรา ๖  การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
             การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

             มาตรา ๗  การจัดการชุมนุมสาธารณะในรัศมีหนึ่งร้อยห้าสิบเมตรจากพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตําหนัก หรือจากที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพํานัก หรือสถานที่พํานักของพระราชอาคันตุกะ จะกระทํามิได้
             การจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาล จะกระทํามิได้ เว้นแต่มีการจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่นั้น
             ศาล ตามวรรคสอง หมายความถึง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาล
             ในกรณีจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย มีอํานาจประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบสถานที่ตามวรรคสอง ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงจํานวนของผู้เข้าร่วมชุมนุมและพฤติการณ์ในการชุมนุมด้วย

             มาตรา ๘  การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่ ดังต่อไปนี้
             (๑) สถานที่ทําการหน่วยงานของรัฐ
             (๒) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
             (๓) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
             (๔) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ หรือสถานที่ทําการองค์การระหว่างประเทศ
             (๕) สถานที่อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด

(*หมายเหตุ - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือมาตรา ๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา ๒๗)

             มาตรา ๙  หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สําหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้
             การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น
             มิให้นําความในหมวด ๒ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นภายในสถานที่ตามวรรคหนึ่ง

             มาตรา ๑๐  ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง
             ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุม ในวัน เวลา และสถานที่ที่กําหนดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ๆ รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่ หรือเครื่องขยายเสียง หรือขอให้ทางราชการอํานวยความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง
             การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ ต้องระบุวัตถุประสงค์ และวัน ระยะเวลา และสถานที่ชุมนุมสาธารณะ ตามวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด ซึ่งต้องเป็นวิธีที่สะดวกแก่ผู้แจ้ง และต้องให้แจ้งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศได้ด้วย
(*หมายเหตุ - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตามมาตรา ๒๘)

             "ผู้รับแจ้ง" หมายความว่า
              ๑. หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ (หรือรักษาราชการแทน) หรือ
              ๒. บุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะ

             มาตรา ๑๑  เมื่อได้รับแจ้งแล้ว ให้ผู้รับแจ้งส่งสรุปสาระสําคัญในการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้แจ้งทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับแจ้ง
             ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นอาจขัดต่อมาตรา ๗ หรือมาตรา ๘ ให้ผู้รับแจ้งมีคําสั่งให้ผู้แจ้งแก้ไขภายในเวลาที่กําหนด
             หากผู้แจ้งการชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งตามวรรคสอง ให้ผู้รับแจ้งมีคําสั่งห้ามชุมนุมโดยแจ้งคําสั่งเป็นหนังสือไปยังผู้แจ้ง
             กรณีผู้แจ้งการชุมนุมไม่เห็นชอบด้วยกับคําสั่งตามวรรคสาม ให้ยื่นอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือผู้รับแจ้งขึ้นไปหนึ่งชั้น และให้ผู้รับอุทธรณ์วินิจฉัยและแจ้งคําวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมง คําวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นให้เป็นที่สุด
              ในระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุม การอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้งดการชุมนุมสาธารณะ
(*หมายเหตุ - ผู้ใดฝ่าฝืนคําสั่งห้ามชุมนุมหรือจัดการชุมนุมระหว่างมีคําสั่งห้ามชุมนุมตามมาตรา ๑๑ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามมาตรา ๒๙)

               มาตรา ๑๒  ให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๐ แจ้งการชุมนุมพร้อมคําขอผ่อนผันกําหนดเวลาดังกล่าวต่อผู้บังคับการตํารวจผู้รับผิดชอบพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร หรือผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดในจังหวัดอื่นแล้วแต่กรณี
               ก่อนเริ่มการชุมนุม ให้นําความในมาตรา ๑๐ วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การแจ้งตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม ให้ผู้รับคําขอผ่อนผันตามวรรคหนึ่งมีหนังสือแจ้งคําสั่งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ยื่นคําขอทราบภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคําขอ
(*หมายเหตุ - ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๒ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตามมาตรา ๒๘)

               มาตรา ๑๓  ให้ผู้รับแจ้งตามมาตรา ๑๑ และผู้รับคําขอผ่อนผันตามมาตรา ๑๒ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๑๔  การชุมนุมสาธารณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรา ๖ หรือไม่แจ้งการชุมนุมตามมาตรา ๑๐ หรือที่ผู้แจ้งไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้รับแจ้ง หรือที่ผู้รับแจ้งมีคําสั่งห้ามการชุมนุมตามมาตรา ๑๑ หรือที่จัดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นคําขอได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกําหนดเวลาตามมาตรา ๑๒ ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

              สรุป สาระสำคัญที่กล่าวมาข้างต้น "การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" หมายถึง
              ๑. การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่สงบหรือมีอาวุธ รวมถึงไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย
              ๒. การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่แจ้งการชุมนุม หรือแจ้งก่อนจะชุมนุมน้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง(เว้นแต่ได้ยื่นขอผ่อนผันแล้ว)
              ๓. การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้แก้ไข กรณีจัดการชุมนุมในบริเวณสถานที่สำคัญตามมาตรา ๗ หรือกีดขวางหรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือใช้บริการในสถานที่ตามมาตรา ๘ ทั้งนี้ภายในเวลาที่กำหนด
              ๔. การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือไม่งดชุมนุมในระหว่างการอุทธรณ์และพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งนั้น
               ๕. การชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือคำสั่งที่แจ้งให้ทราบว่า ไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกำหนดเวลาที่ไม่แจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มชุมนุมไม่น้อยกว่า ๒๔ ชั่วโมง

               ในกรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๔ ให้เจ้าพนักงานประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กําหนด ในกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ ให้เจ้าพนักงานประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กําหนด หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ตามลำดับขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.

คำสั่งให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ

สรุปมาตราสำคัญตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.๒๕๕๘ 

                 มาตรา ๒๑  ในกรณีมีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๔ หรือกรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ(หมายถึง หัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่นั้น) ดําเนินการ ดังต่อไปนี้
                 (๑) กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๔ หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้งตามมาตรา ๑๘ ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กําหนด
                 (๒) กรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา ๗ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ หรือมาตรา ๑๗ ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กําหนด
                 หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ในระหว่างรอคําสั่งศาล ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอํานาจกระทําการที่จําเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ตามข้อเสนอแนะของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ
                 แผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามวรรคสอง ต้องกําหนดให้เจ้าพนักงานหลีกเลี่ยงการใช้กําลัง ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กําลังได้ ให้ใช้กําลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จําเป็น
                 การดําเนินการของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ ไม่ตัดสิทธิของผู้อื่นซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้นที่จะร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม

                 มาตรา ๒๒  เมื่อได้รับคําขอให้มีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๒๑ ให้ศาลพิจารณาคําขอนั้นเป็นการด่วน
                 ในการพิจารณา หากความปรากฏต่อศาลว่า มีผู้ชุมนุมซึ่งไม่ปฏิบัติตามประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๒๑ ให้ศาลมีคําสั่งโดยออกคําบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด
                 คําสั่งศาลตามวรรคสอง ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค คําสั่งศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด
                 ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคําสั่งศาลตามมาตรานี้ไว้ในที่แลเห็นได้ง่าย ณ บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น และประกาศโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไปได้รับทราบคําสั่งศาลดังกล่าวด้วย

                 มาตรา ๒๓  ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคําสั่งศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะรายงานให้ศาลทราบ กับประกาศกําหนดให้พื้นที่บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้นและปริมณฑลของพื้นที่นั้นตามควรแก่กรณีเป็นพื้นที่ควบคุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กําหนด และห้ามบุคคลใดเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ และให้รายงานรัฐมนตรีเพื่อทราบ
                 เมื่อมีการประกาศกําหนดพื้นที่ควบคุมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตํารวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้รับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะตามคําสั่งศาล
                 ในกรณีที่มีเหตุจําเป็น รัฐมนตรีอาจมอบหมายให้ผู้อื่นรับผิดชอบเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะได้
(*หมายเหตุ - ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งหรือประกาศของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๒๓ ถ้าผู้นั้นเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุม ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่ถ้าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ภายในสถานที่ชุมนุม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กําหนดหรือจะไม่ลงโทษก็ได้ ตามมาตรา ๓๒)

                 มาตรา ๒๔  เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุม หากมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุมหรือเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุม
สถานการณ์ดำเนินการให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะตามคําสั่งศาล โดยให้ผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์มีอํานาจ ดังต่อไปนี้
                 (๑) จับผู้ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควบคุม หรือผู้ซึ่งเข้าไปในพื้นที่ควบคุมโดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
                 (๒) ค้น ยึด อายัด หรือรื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะนั้น
                 (๓) กระทําการที่จําเป็นตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๒๑
                 (๔) มีคำสั่งห้ามมิให้กระทําการใด ๆ เพื่อประโยชน์ในการดําเนินการให้มีการเลิกการชุมนุม
                 ให้นําความในมาตรา ๑๙ วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

                 มาตรา ๒๕  ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทําการใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะมีอํานาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทํานั้น หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะและผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์มีอํานาจดําเนินการตามมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔
                 ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคําร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อพิจารณาภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่มีคําสั่ง คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค คําสั่งศาลอุทธรณ์
หรือศาลอุทธรณ์ภาคให้เป็นที่สุด

(*หมายเหตุ - ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา ๒๔ หรือมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กําหนดหรือจะไม่ลงโทษก็ได้ ตามมาตรา ๓๓)

                 มาตรา ๒๖  ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ผู้ควบคุมสถานการณ์ ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ หรือผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามคําสั่งของบุคคลดังกล่าวเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                 มาตรา ๓๔  ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ หรือผู้ควบคุมสถานการณ์หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
                 ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทําความผิดต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

                 มาตรา ๓๕  บรรดาทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะที่ยึดได้จากการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ไม่เลิกการชุมนุมตามคําสั่งศาล ให้ศาลมีอํานาจสั่งริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่